คำแนะนำจะปรากฏหลังจากพิมพ์คำค้นหา กดลูกศรขึ้นและลงเพื่อรีวิว กด Enter เพื่อเลือก หากเลือกวลี ระบบจะค้นหาด้วยวลีดังกล่าว หากคำแนะนำเป็นลิงค์ เบราว์เซอร์จะนำไปยังหน้าดังกล่าว
กฎ
ผู้จัดเอ็กซ์พีเรียนซ์

เอ็กซ์พีเรียนซ์ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้จะช่วยให้คุณได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายและข้อกำหนดในการจดทะเบียนที่อาจเกี่ยวข้องกับ Trip หรือ Experience ของคุณใน Airbnb โดยข้อมูลที่ปรากฏนี้ได้รวมข้อสรุปโดยสังเขปของกฎที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงลิงค์ที่เชื่อมไปยังแหล่งข้อมูลของหน่วยงานราชการที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณ

โปรดทราบว่าข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์นี้มิได้ครอบคลุมกฎหมายและข้อกำหนดทั้งหมด และไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย หากคุณไม่แน่ใจว่ากฎหมายท้องถิ่นหรือข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้กับ Trip หรือ Experience ของคุณหรือไม่ เราแนะนำให้คุณตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือที่ปรึกษากฎหมายของคุณ

โปรดทราบว่าเราไม่ได้ทำการปรับปรุงข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ตลอดเวลา ดังนั้น คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ากฎหมายมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง*

ฉันวางแผนที่จะเสิร์ฟ/จัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Experience ของฉัน – ฉันจะต้องมีใบอนุญาตหรือไม่?

การขาย ซื้อ หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศไทย ถ้าคุณขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คุณจะต้องได้รับใบอนุญาตขายสุราจากกรมสรรพสามิตที่ดูแลพื้นที่ที่สถานที่ขายสุราของคุณตั้งอยู่ ทั้งนี้ คุณอาจถูกถือว่าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะไม่ได้มีการคิดเงินแยกต่างหากสำหรับการจัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ตาม

นี่คือตัวอย่างที่คุณอาจจะไม่ต้องมีใบอนุญาตขายสุรา:

  • ฉันชอบพาแขกของฉันไปที่บาร์โปรดของฉัน หรือไปที่งานเทศกาลที่มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผู้จัดงานเทศกาลที่มีใบอนุญาตถูกต้อง
  • ฉันจัดคลาสสอนผู้ที่เข้าร่วมเกี่ยวกับการแต่งกลิ่นจิน แต่ฉันไม่ได้จัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้เข้าร่วมคลาสนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเอง

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบอนุญาตขายสุรา และเอกสารที่ต้องใช้สำหรับยื่นขอใบอนุญาตสามารถดูได้ที่นี่ (ใบสมัคร สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่) ค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับประเภทของใบอนุญาตขายสุราที่ขอ และคุณควรตรวจสอบกับสำนักงานสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องว่าคุณจะต้องมีใบอนุญาตขายสุราประเภทใด

โปรดทราบว่าใบอนุญาตขายสุรา จะหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี และต้องมีการต่ออายุ อนึ่ง ถ้าคุณขายสุราโดยไม่มีใบอนุญาตขายสุรา คุณอาจต้องรับผิดโดยมีโทษปรับตั้งแต่ 500 ถึง 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของใบอนุญาตขายสุราที่จะต้องมี

นอกจากใบอนุญาตขายสุราแล้ว คุณอาจจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ถ้าคุณจัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางการค้าอย่างสม่ำเสมอเป็นปกติธุระ โดยจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียน ค่าธรรมเนียม และเอกสารที่ต้องใช้ สามารถดูได้ที่นี่ เพื่อความแน่ใจ คุณควรติดต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหากคุณมีข้อสงสัยว่าคุณต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ โปรดทราบว่าถ้าคุณประกอบธุรกิจโดยไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ คุณอาจต้องรับผิดโดยมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และค่าปรับเพิ่ม 100 บาทสำหรับทุกวันที่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง คุณสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การจดทะเบียนพาณิชย์

ถ้าฉันจัด Experience ของฉันที่บาร์?

คุณไม่ต้องมีใบอนุญาต ถ้าหากคุณจัด Experience ของคุณที่บาร์ที่มีใบอนุญาตถูกต้อง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกจัดไว้โดยบาร์ดังกล่าว

ถ้า Experience ของฉันเป็นแบบนำของมาเอง (BYO) โดยฉันอนุญาตให้แขกของฉันนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเอง?

คุณไม่ต้องมีใบอนุญาตเพื่ออนุญาตให้แขกนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเอง

ฉันหมักเบียร์ของฉันเอง หรือผลิตไวน์ของฉันเอง ฉันควรจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

คุณไม่สามารถหมักเบียร์ หรือผลิตไวน์เองได้ นอกจากจะได้รับใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต

การขอใบอนุญาตผลิตเบียร์ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก และต้องมีการผลิตขั้นต่ำที่สูงมาก เช่น ไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี สำหรับการผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต หรือไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับการผลิตเบียร์บรรจุขวด นอกจากนี้ คุณจะต้องเป็นบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยหุ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 51% ถือโดยผู้ถือหุ้นชาวไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่นี่ สำหรับการผลิตเบียร์บรรจุขวด และ ที่นี่ สำหรับการผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต

ในการขออนุญาตผลิตไวน์ คุณจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น สหกรณ์ กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร หรือนิติบุคคลประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ คุณอาจจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่นี่

คุณจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิตหากคุณจะทำสุรากลั่นชุมชน

คู่มือสำหรับใบอนุญาตทำสุราชนิดต่างๆ ภายใต้กรมสรรพสามิต สามารถดูได้ที่นี่ เราแนะนำให้คุณติดต่อกรมสรรพสามิตและขอคำแนะนำจากที่ปรึกษากฎหมายหากคุณจะจัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำเองเป็นส่วนหนึ่งของ Experience ของคุณ

โปรดทราบว่าการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ถ้า Experience ของฉันเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉันจะต้องคำนึงถึงอะไรอีกหรือไม่?

คุณจะต้องคำนึงถึงอายุของแขก สถานที่ และเวลา

อายุ – คุณควรทราบว่า อายุการดื่มแอลกอฮอล์ขั้นต่ำในประเทศไทยคือ 18 ปี นอกจากนั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถจำหน่ายให้แก่บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีเท่านั้น ถ้าคุณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด คุณอาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และ/หรือ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

สถานที่ – ไม่อนุญาตให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ สถานที่สาธารณะบางแห่ง เช่น วัด สถานพยาบาล สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ เป็นต้น คุณอาจดูข้อมูลเพิ่มเติมทีเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ อนึ่ง บุคคลใดบริโภคแอลกอฮอล์ ณ สถานที่ต้องห้ามดังกล่าวอาจมีโทษทางอาญาคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ/หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

เวลา – โปรดทราบว่าโดยทั่วไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. เว้นแต่ใบอนุญาตขายสุราจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือเป็นการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สนามบินหรือสถานบันเทิง การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนเวลาที่กำหนดมีโทษทางอาญาคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ/หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

การโฆษณา

โปรดทราบว่า “การโฆษณา” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นต้องห้ามภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งภายใต้ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ “การโฆษณา” หมายถึง “การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด” สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณา คือ การโฆษณา หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ เจ้าหน้าที่บังคับใช้บทบัญญัตินี้อย่างเข้มงวดและตีความบทบัญญัติดังกล่าวอย่างครอบคลุม ดังนั้น เพื่อความแน่ใจ คุณควรตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ว่า Experience ของคุณเข้าข่ายเป็นการโฆษณาหรือไม่

นี่คือตัวอย่างที่อาจถือว่าเป็น “การโฆษณา”:

  • ฉันเป็นเจ้าของโรงเบียร์ท้องถิ่น ฉันเป็นสปอนเซอร์ให้กับ event และขายเบียร์ของฉันใน event เช่น งาน Art Box
  • ฉันจัดคลาสชิมไวน์ โดยแขกจ่ายเงินค่าเข้าร่วม เพื่อทดลองชิมไวน์ต่างๆ ที่ฉันซื้อมาจากร้านขายของ แขกสามารถเลือกซื้อไวน์ที่ชื่นชอบจากฉันได้ (ฉันมีใบอนุญาตขายสุรา)

นี่คือตัวอย่างที่อาจไม่ถือว่าเป็น “การโฆษณา”:

  • ฉันพาเพื่อนที่เป็นคอเบียร์ไปยังโรงเบียร์ท้องถิ่นหรือบาร์ท้องถิ่นเพื่อชิมเบียร์ท้องถิ่น (แน่นอนว่าโรงเบียร์หรือบาร์ท้องถิ่นต้องมีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง)
  • ฉันเป็นนักชิมอาหาร และฉันพาเพื่อนนักชิมอาหารของฉันไปรอบๆ บริเวณที่ฉันอาศัยอยู่เพื่อลองชิมอาหารข้างทางและเบียร์ท้องถิ่น (แน่นอนว่าผู้ขายต้องมีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง)

ถ้าคุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับกฎระเบียบใดที่อาจใช้บังคับกับคุณ โปรดหารือกับที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษากฎหมายของคุณ

นอกจากนี้ ถ้า Experience ของคุณเกี่ยวข้องกับการเตรียมอาหารหรือการเสิร์ฟอาหาร คุณควรจะศึกษา หน้าข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร ของเรา ในทำนองเดียวกัน ถ้า Experience ของคุณเป็นการรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับกิจกรรมอย่างอื่น (เช่น การนำเที่ยว) โปรดศึกษาหน้าข้อมูลอื่นๆ ของเราเพื่อดูว่ามีกฎระเบียบอย่างอื่นที่อาจใช้บังคับกับกิจกรรมของคุณหรือไม่

*Airbnb จะไม่รับผิดชอบในความน่าเชื่อถือหรือความถูกต้องใดๆ ของข้อมูลที่อยู่ในลิงค์เพื่อไปยังเว็บไซต์ของบุคคลที่ 3 (รวมถึงลิงค์เกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบ)

บทความนี้มีประโยชน์ไหม?
ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจอง บัญชีผู้ใช้ และอื่นๆ
เข้าสู่ระบบหรือลงทะเบียน